มีคนถามผมว่า ควรทำธุรกิจหลายๆ ตัวที่แตกต่างกัน หรือทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน
.
เรื่องนี้ต้องพูดถึงการสร้าง Corporate Advantage และการทำ Synergies
.
Corporate Advantage คือ ความได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กร ธุรกิจแต่ละตัวที่เราทำมันจะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในตัวของมันเอง เช่น ต้นทุน แบรนด์ คน ช่องทางการขาย ทีนี้ถ้าเรามีธุรกิจที่ออกแบบมาให้เสริมซึ่งกันและกัน หรือทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิผล จะเรียกง่ายๆ ว่า Synergies
.
ช่วง Boom Cycle หรือตลาดขาขึ้น เป็นช่วงที่อะไรก็หอมหวาน ทำอะไรก็ดูเป็นเงินเป็นทอง เงินเฟ้อสวยๆ สัก 1-2% ช่วงนี้ต่อให้คุณทำธุรกิจแบบไม่เกี่ยวข้องกัน เช่น คุณมีร้านขายหมูปิ้ง ร้านขายวัสดุก่อสร้าง และร้านขายทุกอย่าง 20 บาท ยังไงแต่ละตัวมันก็ทำรายได้ขาขึ้นได้ดีตามสมรรถนะของธุรกิจแต่ละตัวของคุณ
.
ในทางกลับกัน ช่วง Bust Cycle ที่เศรษฐกิจกำลังมีปัญหา แน่นอนว่าอสังหาริมทรัพย์ คือ ตัวแรกของธุรกิจที่จะไปก่อน ธุรกิจร้านขายวัสดุก่อสร้างจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนที่ยอดขายจะต้องลดลง ในขณะเดียวกันร้านขายหมูปิ้งของคุณก็อาจจะไปในทางเดียวกัน แต่ร้านขายทุกอย่าง 20 บาท อาจจะยังอยู่รอดได้ เพราะคนมีเงินในกระเป๋าลดลง
.
การมีธุรกิจหลายตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ในช่วงตลาดขาขึ้น (Boom Cycle) มันก็วิ่งขึ้นไปตามความสามารถและโอกาสทางการตลาดของสินค้าแต่ละตัว ถ้าธุรกิจของคุณแต่ละตัวมี Advantage ที่ชัดเจน เช่น หมูปิ้งอร่อยกว่า ต้นทุนสินค้าขายต่ำกว่า คุณก็อาจตักตวงประโยชน์ขาขึ้นได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าคนอื่นๆ
.
เมื่อตลาดขาลง (Bust Cycle) คุณก็อาจมีธุรกิจบางตัวที่เหลือรอดจากวิกฤต ทำให้คุณป้องกันความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง เรียกว่า ก็ยังพอมีธุรกิจให้เดินหน้าสร้างรายได้ให้คุณและครอบครัวได้
.
#แต่ทำไมบางธุรกิจที่เติบโตจนใหญ่โต ถึงเลือกการมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น CP หรือ Central ในต่างประเทศก็เช่น Louis Vuitton หรือ Samsung
.
CP ขยายตัวในอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างเต็มประสิทธิภาพ ก่อนที่จะเริ่มขยายไปธุรกิจส่วนอื่นๆ (ปุ๋ย อาหาร ร้าน 7-11 เป็นต้น)
.
Central ขยายตัวผ่านการสร้างสินทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก ซึ่งเกี่ยวข้องกัน (ที่ดิน อาคาร ช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นต้น)
.
LV หรือ Louis Vuitton ขยายตัวในธุรกิจแฟชั่น ความสวยความงาม Luxury Travel ห้างค้าปลีกสินค้าหรู เป็นต้น
.
SAMSUNG ของใช้ในบ้าน คอมพิวเตอร์ มือถือ บริษัทผลิต Semi-Conductor (ชิปที่ใช้ในอุปกรณ์ต่างๆ) เครื่อง X-ray (นวัตกรรมหน้าจอ Screen)
.
การที่มีพวกธุรกิจใหญ่ๆ เลือกที่จะสร้างธุรกิจที่สอดคล้องกันในตลาดแรก เพราะต้องการเน้นที่ไป Corporate Advantage ที่มี Synergies โดยอาศัยความสามารถของธุรกิจแต่ละตัวที่เกี่ยวข้องกัน มาสร้าง Productivity หลักๆ 4 ด้าน ได้แก่
.
R&D การวิจัยและพัฒนา ทำให้เกิดนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลายๆ ธุรกิจของตัวเอง เช่น หน้าจอ Screen ของ TV และมือ สามารถส่งผ่านนวัตกรรมระหว่างกันและนำไปสู่ธุรกิจอย่างอุปกรณ์ X-Ray
.
Procurement การจัดหา จัดซื้อ การขยายธุรกิจเกษตรและอาหารขนาดใหญ่ของ CP ทำให้มีอนาจต่อรองในการจัดซื้อวัตถุดิบ หรือทำ Contract Farming ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้านต้นทุน
.
Manufacturing ธุรกิจที่สอดคล้องกัน อาจมีเครื่องจักร อุปกรณ์เทคโนโลยีที่เหมือนกัน ทำให้การนำเข้าหรือจัดสร้างเครื่องจักรต้นทุนต่ำลง รวมไปถึง ความสามารถในการผลิตที่อาจใช้ร่วมกันได้ ทำให้เกิด Economy of Scale
.
Distribution การจัดจำหน่ายหรือช่องทางการจัดจำหน่าย ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันทำให้สามารถใช้ประโยชน์ช่องทางการจัดจำหน่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น Central ห้างค้าปลีก ทำ Tops Supermarket หรือ CP ทำ 7-11 เพื่อซัพพอร์ตอุตสาหกรรมอาหารของตนเอง เป็นต้น
.
ทั้ง 4 มิตินี้ คือ การสร้าง Productivity คือ ประสิทธิภาพการดำเนินงาน เป็นหัวใจหลักของกลไกการทำให้ธุรกิจเติบโตในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เพราะทำให้เกิดการใช้ต้นทุนที่ต่ำลง และสร้างอัตรากำไรต่อหน่วยที่สูงขึ้น ดังนั้นในช่วง Boom Cycle ธุรกิจลักษณะที่เกี่ยวข้องกันพวกนี้จึงโกยเงินและกำไรได้มากกว่าการที่เราทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกัน
.
ในช่วง Bust Cycle แน่นอนว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันจะมีปัญหาในช่วงนี้มากกว่าเช่นกัน ขึ้นก็แรงลงก็แรงนั่นเอง เพราะถ้าอุตสาหกรรมของเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเวลาเศรษฐกิจแย่ ผลกระทบย่อมหนัก
.
คนที่ออกแบบธุรกิจและลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน พวกนี้จะป้องกันความเสี่ยงอย่างดี เราจะเห็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ล็อคความเสี่ยงได้ดี เป็นการกระจายความเสี่ยง เช่น ที่ดิน หรือในขณะเดียวกันก็ขยายไปลงทุนในธุรกิจที่มีเงินกองเป็นกอบเป็นกำ เช่น ประกันภัย ประกันชีวิต หรือการเอาเงินไปซื้อหุ้นกิจการอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อกระจายความเสี่ยงของตนเอง ครอบครัว และธุรกิจ อีกทั้งสินทรัพย์างอย่างนำไปสู่การเพิ่มทุนและการกู้หนี้หรือทำ Financial Leverage เรียกง่ายๆ เอาเงินธนาคารมาใช้ และเมื่อเสรษฐกิจขาลง การเป็นลูกหนี้ชั้นดีรายใหญ่ ก็ต่อรองง่าย ต้นทุนทางการเงินก็ต่ำกว่าธุรกิจเล็กๆ หรือ SME
.
ดังนั้นพวกนี้จึงทำให้ในเวลาตลาดขาลง Bust Cycle ตระกูลใหญ่ๆ คนรวย บริษัทใหญ่ๆ จึงไม่ค่อยกระทบ ไม่ค่อยมีปัญหา ยกเว้นเล่นเสี่ยงเหมือนปี 40 คือ การไปกู้หนี้จากต่างประเทศ และพอค่าเงินมีปัญหาทุกอย่างพังระนาว
.
ถ้าเราไม่มีธุรกิจล่ะ เราจะใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ได้ไหม ลองเอาโครงสร้างนี้ไปวิเคราะห์บริษัทต่างๆ และเลือกที่จะลงทุนผ่านกองทุน หรือผ่านหุ้น เอาแค่เข้าใจว่าธุรกิจไหนมีโครงสร้างการออกแบบธุรกิจอย่างไร ธุรกิจไหนจะดีในช่วง Boom หรือจะแย่ในช่วง Bust เราจะบริหารพอร์ตอย่างไร จะใส่เต็มแม็คในช่วงขาขึ้นกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์สูงสุด และเมื่อเห็นสัญญาณค่อยปรับพอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยง ขอแค่เข้าใจเรื่องพวกนี้ ต่อให้ลงทุนหุ้นก็ทำได้ อย่างเหมาะสม
.
ดร.ทอย ปุญญภณ เทพประสิทธิ์